วันจันทร์ที่ 19 พฤศจิกายน พ.ศ. 2550

วันจันทร์ที่ 5 พฤศจิกายน พ.ศ. 2550

วันจันทร์ที่ 29 ตุลาคม พ.ศ. 2550

Posted by Picasa



Posted by Picasa

การอบรมเชิงปฏิบัติการ” คุณครูของหนู” โครงการเด็กไทยหัวใจรักการอ่าน ประจำปี 2550 เมื่อวันที่ 27-29 ตุลาคม 2550 ที่ผ่านมา ณ. ห้องประชุมเปือยงาม อ.เมือง จ.นครพนม
สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา เขต 1 ร่วมกับมูลนิธิสื่อชาวบ้าน (มะขามป้อม) สนับสนุนโดย สภาองค์การพัฒนาเด็กและเยาวชน และ ผลิตภัณฑ์ CORUM โดยบริษัท บาสโทลด์ ประเทศไทย

หลังจากที่ทีมงานค่าย โดยอาสาสมัครหน้าใส หัวใจรักการอ่าน นำทีมโดย มะขามเม้ย กับ มะขามต้อม เดินทางไปถึงจังหวัดนครพนม ก็สบโอกาสดีเป็นเทศกาลไหลเรือไฟวันสุดท้าย ทำให้เราได้เข้าไปร่วมเนียนในเหตุการณ์สำคัญของเทศกาลใหญ่ประจำปี ได้เห็นความมหัศจรรย์กับเรือไฟขนาดใหญ่กว่าบ้านตึกสามชั้น ถูกสร้างขึ้นโดยศิลปินชาวบ้านแต่ละอำเภอไม่ยอมน้อยหน้ากัน แอบเก็บความลับในการสร้างเรือไฟ ทั้งรูปเรือสุพรรณหงส์ รูปพระบรมฉายาลักษณ์ของในหลวง เรือใบ พระธาตุพนม และ อีกมากมายถึง 16 ลำ พวกเราได้มีโอกาสไปเที่ยวงานยามค่ำคืนที่ มหาชนมาคลาคล่ำกันที่ริมแม่น้ำโขง ในบรรยากาศหน้าหนาวที่แสนโรแมนติก
หลังจากรุ่งขึ้น คุณครูกว่า 35 คน จาก 7 โรงเรียน ก็มารวมตัวกันพร้อมหน้า ทีแรกพวกเราก็หัวใจเต้น ตุ๊มๆ ต่อมๆ ว่าครูจะมากันหรือเปล่า เพราะเมื่อคืนคงฉลองกันจนดึกกันถ้วนหน้า แต่ไม่นานก็มากันครบครัน พอพิธีเปิดเสร็จสิ้นลงโดย ผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาเขต 1 อาจารย์ ณรงค์ ชิณสาร ที่ท่านกรุณามาเปิดการประชุมด้วยเรื่องประโยชน์ของการอ่าน ซึ่งพบว่าท่านเป็นนักอ่าน นักเขียน เป็นหนอนหนังสือ ตัวยงคนหนึ่งที่สำคัญท่านเป็นเบื้องหลัง คนแต่งเพลงต้นฉบับให้กับครูสลา คุณวุฒิ ในบทเพลง “นครพนมคืนเพ็ญ” อัลบัมชุดใหม่ล่าสุดของ ศิริพร อำไพพงศ์ นับว่าการเดินทางมานครพนมคราวนี้ของเรา ได้พบเพื่อนครูที่เป็นเพชรเม็ดงามอีกเม็ดหนึ่งของวงการการศึกษาไทย


คุณครูที่มาร่วมกิจกรรมก็ช่างน่ารักเพราะตั้งอกตั้งใจทำกิจกรรมเป็นอย่างมาก เริ่มต้นด้วยการช่วยกันระดมสมอง ถ้าโลกนี้ไม่มีหนังสือ จะเป็นอย่างไร? หลังจากนั้นก็เป็นการออกแบบห้องสมุดในฝัน ที่มีทั้งห้องสมุดบนดิน ในน้ำ บนท้องฟ้า เรียกว่า จินตนาการกระเจิดกระเจิงกันเลยทีเดียว ภาคบ่ายเริ่มต้นด้วย เทคนิคการเล่านิทานด้วยร่างกายผ่านการเล่านิทานประกอบเรื่อง ตำนานเมล็ดข้าว และเทคนิคละครสร้างสรรค์ (Creative Drama ) คุณครูตั้งอกตั้งใจทำกิจกรรมกันสนุกสนานกันชนิดไหปลาแดกขยับเลยทีเดียว
แล้วเป็นการระดมนิทาน หรือ ตำนานพื้นบ้านภาคอีสาน ที่สอดแทรกภูมิปัญญาและวัฒนธรรมท้องถิ่นด้วยการถ่ายทอดผ่านการเล่าปากเปล่า หรือมุขปาฐะ ได้เรื่องราวมากมายทั้ง หนูน้อยเซียงเมี่ยง กำพร้าผีน้อย ผาแดงนางไอ่ และตำนานพระธาตุพนม นิทานพื้นบ้านหล่านี้ได้แฝงเอาคติธรรม ความเชื่อ ภาษา ภูมิปัญญา วัฒนธรรมพื้นบ้าน ส่งต่อกันมาหลายชั่วอายุคนล้นเป็นเรื่องเล่าที่มีชีวิตชีวา มีวิญญาณ
กิจกรรมถัดมา “นิทานแผ่นภาพ” ช่วยกันลงสีกันสวยสดกันคนละแผ่น แล้วจึงเอามาเย็บเล่มเป็นหนังสือนิทานเล่มใหญ่ เป็นหนังสือนิทานเล่มเดียวในโลก ที่ไม่มีใครกล้าเลียนแบบ นี่เป็นเพียงการอบรมวันแรก ยังเรียกเสียเฮฮากันได้มากมาย รับรองว่าพรุ่งนี้ ยังมีกิจกรรมรออยู่อีกมากมาย หลากหลายกิจกรรม
วันต่อมา วิทยากรต้อมเม้ย ช่วยกันให้คุณครูลองพากษ์เสียงให้เหมาะสมกับบุคคลิกของตัวละคร และ นำนิทานแผ่นภาพที่ได้ทำ มาร่วมกันเล่า ให้น่าสนใจมากยิ่งขึ้นด้วยการแนะพนำเทคนิคการพากษ์เสียง สูง ต่ำ จังหวะช้าเร็ว เพื่อช่วยให้การเล่านิทาน มีรสชาติแซ่บอีหลีมากยิ่งขึ้น หลังจากนั้น เหล่าพี่เลี้ยงหน้าแก่ของเราจึง สาธิตการทำหุ่น เพื่อสร้างชีวิตให้กับหนังสือนิทาน จำนวน 4 ชนิด ได้แก่ หุ่นก้านเชิด หุ่นเงา หุ่นมือ และ หน้ากาก เพื่อให้ครูเกิดไอเดียบรรเจิดในการเอาวิธีการไปใช้ในห้องเรียน ครูจึงแบ่งเป็น4 กลุ่มตามความสนใจ แล้วแยกย้ายกันผลิตหุ่นที่น่าสนใจอย่างเพลิดเพลินชนิดไม่หมดเวลาไม่เลิก ช่วงบ่ายจึงเป็นการแบ่งกลุ่มกันสร้างการแสดง จากเรื่องนิทานพื้นบ้านที่ได้แต่งไว้ จนสามารถผลิตการแสดงที่น่าสนใจได้อย่างดีทีเดียว
วันสุดท้ายเป็นกิจกรมสรุปการเรียนรู้ ตลอดจนวางแผนการสนับสนุนการทำงานของแกนนำนักเรียนในการขยายผลการทำงานรักการอ่านในโรงเรียนได้ต่อไป
ต้องขอขอบคุณ ผู้สนับสนุนโครงการดีๆ ที่เกิดขึ้น อย่าง สภาองค์การพัฒนาเด็กและเยาวชน และ ผลิตภัณฑ์ CORUM โดยบริษัท บาสโทลด์ ประเทศไทย หวังว่าโอกาสหน้าเราจะได้ทำโครงการดีเช่นนี้ ร่วมกันอีก

ตรวจสอบ Slide Show! ของฉัน!

วันพุธที่ 17 ตุลาคม พ.ศ. 2550

วันอาทิตย์ที่ 14 ตุลาคม พ.ศ. 2550




Posted by Picasa

ตรวจสอบ Slide Show! ของฉัน!

อบรมการพัฒนาโครงการสร้างเสริมสุขภาพให้เจ๋งโดนใจ

“พัฒนาโครงการสร้างเสริมสุขภาพยังไง ให้เจ๋ง...โดนใจ”
มะขามป้อม จับมือ สสส จัดคอร์สอบรมเข้มสำหรับนักสร้างเสริมสุขภาพ
ผ่านพ้นไปแล้วกับการอบรมสองรุ่น สองรส เมื่อวันที่ 28-29 กันยายน และ 5-6 ตุลาคม ที่ผ่านมา ณ โรงแรม แกรนด์ ทาวเวอร์อินน์ ในโครงการพัฒนาศักยภาพผู้ขอรับทุน


คราวนี้มะขามป้อมจับมือกับ สสส ร่วมกัน จัดคอร์สฝึกอบรมสำหรับนักสร้างเสริมสุขภาพ ในเรื่องการพัฒนาโครงการสร้างเสริมสุขภาพให้เจ๋งโดนใจ หลักสูตรสองวันอัดแน่นด้วยสาระ เน้นการมีส่วนร่วมของผู้เข้าร่วมประชุมตามสไตล์ฮาเฮแบบมีสาระ
เริ่มต้นด้วยการ สะท้อนปัญหาที่ค้างคาใจของโครงการ ในกิจกรรม สี่สถานี เพื่อตอบข้อสงสัยและปรับ”คลื่นความถี่” ของผู้เสนอโครงการและผู้สนับสนุนโครงการให้ตรงกัน ในsession นี้ เราได้เชิญ พี่กระรอก คุณ วีระพงศ์ เกรียงสินยศ กรรมการบริหารแผนงานเปิดรับทั่วไปและนวัตกรรม สสส และมูลนิธิสุขภาพไทย มาช่วยให้ความกระจ่างถึงปัญหาที่ผ่านมาของโครงการที่ไม่ผ่านการพิจารณาจากคณะกรรมการ ซึ่งมีข้อสังเกตที่น่าสนใจมากมายเช่น การกำหนดเป้าหมายโครงการไม่ชัดเจนพอ หรือ การเขียนโครงการไม่สอดคล้องเป็นเหตุเป็นผล หรือ วัตถุประสงค์ในการดำเนินโครงการกว้างขวางไม่ชัดเจน เป็นต้น พร้อมทั้งชี้แจงแนวทางการสนับสนุนจากสสส ซึ่งช่วยให้สร้างความเข้าใจที่แจ่มแจ้งมากยิ่งขึ้น
ต่อจากนั้นเป็นการ วิเคราะห์ปัญหาชุมชนด้วยกิจกรรมแผนที่ชุมชน โดยวิทยากร จ๋อน เพื่อชี้ให้เห็นปัญหาด้านสุขภาพในชุมชนระดับภูมิภาค พร้อมทั้งกระตุ้นให้ผู้เข้าร่วมประชุมได้เห็นถึงต้นทุนทางสังคมที่ทุกชุมชนมีอยู่ แต่อาจมองข้ามไป ซึ่งจะเห็นว่าทุนทางสังคมทั้งทางด้านบุคลากรสุขภาพ องค์ความรู้ ภูมิปัญญาดั้งเดิม ความสัมพันธ์แบบเครือญาติ ประเพณี ความเชื่อ หรือทรัพยากรที่ชุมชนมีอยู่ ล้วนเป็นต้นทุนอันสูงค่าที่ทุกชุมชนมีอยู่แล้วเพื่อเป็น
”ขุมทรัพย์” ที่จะช่วยให้หยิบยกมาใช้ประโยชน์ในโครงการสร้างเสริมสุขภาพอย่างมีประสิทธิภาพได้เป็นอย่างดี ต่อด้วยกิจกรรม วิเคราะห์ปัญหาสุขภาพด้วยหลักอริสัจ 4 โดยวิทยากร ก๋วย เพื่อนำเข้าสู่ปัญหาสุขภาพ คือ ทุกข์ วิเคราะห์สาเหตุ คือ สมุทัย การแก้ปัญหา คือ นิโรธ และแนวทางหรือวิธีการแก้ปัญหา คือ มรรค เพื่อจัดระเบียบความคิดในเรื่องการพัฒนาโครงการอย่างเป็นระบบ เมื่อเข้าใจเรื่อง สาเหตุ –ปัญหา-ผลกระทบ ก็คือการเขียนหลักการและเหตุผล การแก้ปัญหาคือ วัตถุประสงค์ ส่วน แนวทางแก้ปัญหา คือ กิจกรรม ในโครงการนั่นเอง
ส่วนต่อมาคือ ส่วนสำคัญมากๆ นั่นก็คือ วิธีการเขียนโครงการ ซึ่งเราได้รับเกียรติจากสองอาสาสมัครมะขามป้อมบัตรทองกิตติมศักดิ์ ฮ่าๆๆๆๆ มาร่วมเป็นวิทยากรรับเชิญของเรา คือ พี่ตู่ โอภาส เชษฐากุล ผู้คลุกคลีกับโครงการสร้างเสริมสุขภาพมาตลอดอายุการทำงาน และ สบทบด้วย อ. หมู วีรบูรณ์ วิสารทสกุล อาจารย์ประจำคณะสังคมสงเคราะห์ มธ และ อดีตฝ่ายติดตามโครงการ สสส ช่วยมาฝึกฝนวิทยายุทธ์ผู้เข้าร่วม ตลอดการอบรมสองวัน ชนิดเข้มข้นคลั่กๆ ชนิดหน้ามึน ลมปราณแตกซ่าน กระอักโลหิตกันไปเป็นแถวๆแต่เมื่อสิ้นสุดการอบรมผู้เข้าร่วมต่างพอใจกับการได้เข้าร่วมอบรม เพราะต่างสะท้อนว่าทำให้รู้แนวทางการเขียนโครงการที่ชัดเจนมากยิ่งขึ้น มั่นใจในการกลับไปเขียนด้วยตัวเองโครงการมากขึ้น
การอบรมในปีนี้ เป็นโครงการนำร่อง 2 รุ่น มีผู้เข้าร่วมเกือบๆ 80 คน จาก40 โครงการ เรายังดำเนินการต่อเนื่อง อีก 4 รุ่น ประมาณ 100 โครงการ ( 200 คน ) ในช่วงเดือน กุมภาพันธ์ – พฤษภาคม ปีหน้า รายละเอียดจะแจ้งให้ทราบทางเวบไซด์มะขามป้อมแห่งนี้อีกครั้งหนึ่ง โปรดติดตาม

วันพุธที่ 5 กันยายน พ.ศ. 2550




Posted by Picasa

ค่ายวัยมันส์ปี3 เชียงใหม่

ค่ายแกนนำครูและนักเรียน “ วัยมันส์เท่าทันสื่อปี3 “
เก็บตกบรรยากาศสุดมันส์จากค่ายทั้ง 3 ภาคมาฝาก

หลังจากเก็บตัวเงียบ ซุ่มซ้อม ปรับปรุง พัฒนาโครงการวัยมันส์ท่าทันสื่อ มาจนถึงปีที่ 3 เหล่าพลพรรคทีมงานวิทยากรในโครงการ ร่วมใจเก็บตัว ฝึกซ้อมกระบวนการพัฒนาวิทยากร (Train the trainers ) จนกระบวนการเข้าฝัก พร้อมเต็มที่ที่จะพบกับคณะครูและน้องๆแกนนำจากกว่า 40 โรงเรียนทั่วปประเทศ จนผ่านพ้นไปอย่างสวยงาม 3 ค่าย 3 ภูมิภาค ทั้ง หาดใหญ่ เชียงใหม่ และ ขอนแก่น

โดยในปีนี้กลุ่มละครมะขามป้อม ได้ร่วมมือกับ โครงการพัฒนาองค์ความรู้การรู้เท่าทันสื่อในประเทศไทย ผนึกกำลังกัน หมายมั่นปั้นมือว่าจะให้การรู้เท่าทันสื่อ เป็นเรื่องที่ต้องถูกขยายผลไปยังเยาวชนทั่วทั้งประเทศให้จงได้ โดยได้รับการสนับสนุนเป็นอย่างดีจาก แผนงานสื่อสร้างสุขภาวะเยาวชน (สสย.) สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส) เป็นกองกำลังสนับสนุนสุดตัว
หลักสูตรกิจกรรมค่ายปีนี้ ถูกปรับปรุงให้เข้มข้นมากยิ่งขึ้นด้วย 5 หน่วยการเรียนรู้เท่าทันสื่อ ที่ออกแบบกิจกรรมการเรียนรู้ที่สนุก มีสาระ แบบมีส่วนร่วม ตามสไตล์มะขามป้อม ประกอบด้วย รู้ทันโลก รู้ทันตน รู้ทันสื่อ รู้คิด รู้แก้ เพิ่มเติมด้วยการสำรวจสถานการณ์สื่อในชุมชน และ การวางแผนปฏิบัติการขยายผลไปยังโรงเรียนตนเอง เพื่อร่วมร้อยเครือข่ายการทำงานโดยแกนนำเยาวชนเท่าทันสื่อกว่า 200 คน ภายใต้การสนับสนุนของครูแกนนำกว่า 80 ท่าน จาก 4 ภูมิภาคทั่วประเทศ
ขอรายงาน(ไม่สด) ส่งตรงจากพื้นที่ เริ่มต้นวันแรกด้วยการแบ่งกลุ่มการเรียนรู้ ออกเป็นห้องคุณครู และห้องเด็กๆ โดยให้น้องๆร่วมกันกำหนดนิยามความหมายของสื่อร่วมกัน เรียนรู้ผลกระทบจากสังคมบริโภคนิยม กลับมาทบทวนกลไกการรับรู้สื่อจากภายในตนเอง แล้วรู้ทันสื่อด้วยการเรียนรู้กลยุทธ์ของนักโฆษณา ที่สำคัญสุดๆคือการฝึกวิเคราะห์สื่อด้วยตัวเองทั้ง โฆษณา ละคร เพลง มิวสิควิดีโอ ภาพยนต์ New media เพื่อฝึกการเป็นผู้บริโภคที่ชาญฉลาด และรู้เท่าทัน สุดท้ายลองหาทางออกร่วมกันด้วยการคิด ”คาถาเท่าทันสื่อ” เป็นการสร้างเกราะป้องกันให้เราบริโภคสื่ออย่างมีภูมิคุ้มกัน
ที่พิเศษมากยิ่งขึ้นกว่าปีก่อนๆ ก็คือ เรา(ทั้งวิทยากร ครูและนักเรียน ) ร่วมกันออกนอกห้องเรียนเพื่อไปสำรวจสถานการณ์สื่อในชุมชน เพื่อเป็นการเรียนรู้จากประสบการณ์ตรงและนำความความรู้ทางทฤษฎีไปปฏิบัติจริง แบ่งกัยเก็บข้อมูลในชุมชน ทั้งการสัมภาษณ์ ถ่ายทำ อัดเสียง เมื่อเก็บข้อมูลกลับมา เราจึงร่วมกันทำแผนที่สื่อในชุมชน และ วิเคราะห์สถานการณ์ในแต่ละจังหวัด จึงพบว่าสถานการณ์ที่เกิดขึ้นกับเยาวชนของเรา น่าเป็นห่วงจริงๆ อย่างถนนเล็กๆ ในตรอกแห่งหนึ่ง ย่ายสันติธรรม กลางเมืองเชียงใหม่ เราพบร้านเกมส์ ที่เรียงรายกันมากกว่า 10 ร้านทั้งสองฟากถนน ดึงดูดเด็กๆ ในชุดนักเรียนเข้าไปรวมตัวกันมากมายในเวลาเรียน หรือ กลยุทธ์ทางการตลาดที่ซับซ้อนมากยิ่งขึ้น ในการเรียกความสนใจจากลูกค้า ทั้งลีลาของรถแห่ ตู้ถ่ายสติ๊กเกอร์เคลื่อนที่ บุกไปถึงหน้าบ้านในชุมชน งานนี้เรียกว่าได้เรี้ยนรู้จากของจริงแบบไม่ต้องอธิบายกันให้ยืดยาว
ช่วงสุดท้ายของค่าย น้องๆเยาวชนก็เริ่มวางแผนปฏิบัติการขยายผล เพื่อให้ประเด็นเรื่องการเท่าทันสื่อเป็นประเด็นร้อนที่จะถูกนำไปรณรงค์ให้เกิดความเคลื่อนไหวในโรงเรียน ซึ่งการออกแบบ แผนปฏิบัติการขยายผลโดยเด็กเอง ด้วยการสนับสนุนเงินทุนในการขยายผลกิจกรรมโดย สสส เพื่อเรียนรู้การเป็นผู้ผลิตสื่อ อย่างครบวงจร เพราะเรามองว่านี่คือการทำงานอย่างยั่งยืน ที่จะดึงเอาเยาวชนเข้ามามีส่วนร่วมด้วยมากที่สุดในทุกขั้นตอนการทำงาน การทำงานของเราผ่านไปแล้ว 3 ค่าย ยังเหลือค่ายสุดท้ายที่กรุงเทพ ก่อนปิดฉากโครงการอย่างเหน็ดเหนื่อย แต่สนุกสนานและคุ้มค่ายิ่ง

กำหนดการค่ายแกนนำเท่าทันสื่อกรุงเทพ วันที่ 6-8 กันยายน 2550
ณ. ค่าย NP Cadet ดอนเมือง

สำหรับผู้สนใจ สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่
ผู้ประสานงานโครงการ คุณนา อุษณา ลีลาวศิน 086-8980556, 02-6168473-4
อีเมล์ makhampom2@hotmail.com website www.makhampom.net

วันอาทิตย์ที่ 2 กันยายน พ.ศ. 2550

วันพฤหัสบดีที่ 30 สิงหาคม พ.ศ. 2550








จำได้ว่าเมื่อปีที่แล้วตอนทำ อบรมวิทยากรโครงการวัยมันส์เท่าทันสื่อ ได้มีโอกาส เชิญกับน้องเกื้อ เกื้อกมล นิยม จากโรงเรียนรุ่งอรุณ มาเป็นวิทยากรรับเชิญ พูดคุยเรื่องการทำงานออกแบบหนังสือเรียน ในโครงการตำราของโรงเรียนรุ่งอรุณ จำได้ว่าเธอเอาวิชาออกแบบที่ร่ำเรียนมาจากอังกฤษ มาใช้ในงานออกแบบ ตัวหนังสือ สิ่งพิมพ์ได้อย่างน่าสนุกและ ฉงนฉงาย และทึ่ง ในวิธีคิด ของเธอและคณะครูของโรงเรียนรุ่งอรุณเป็นอย่างยิ่ง ว่างานออกแบบหนังสือเรียน หรือ ตำราดีๆสักเล่มสำหรับเด็กๆ เป็นเรื่องที่สลับซับซ้อน และ ท้าทายความคิดสร้างสรรค์เป็นอย่างมาก เพราะตำราดีสักเล่มอาจทำให้ เด็กๆค้นพบวิธีการเรียนรู้ที่น่าสนุก และอาจนำไปสู่การปลุกเร้าศักยภาพของตัวเองที่หลับไหลอยู่ให้ตื่นขึ้นอย่างที่เราๆก็อาจจะคิดไม่ถึง
มองกลับมาที่ประสบการณ์ส่วนตัวเรื่อง หนังสือเรียน ย้อนกลับไปหลายๆปีก็ยังนึกถึงตำราเล่มโต ตัวหนังสือเยอะๆ รูปประกอบเชยๆ ก็ไม่แปลกใจเลยว่าทำไม เด็กไทยถึงฉลาดเฉลียวกันถ้วนทั่ว เสียดายที่ตัวเองเรียนหลักสูตรเก่า เป็นรุ่นสดท้ายก่อนที่จะเปลี่ยนระบบ รุ่นนิทานร้อยบรรทัด เลยทำให้พลาดการเรียนตำราภาษาไทยสุดคลาสสิคอย่างปิติ มานี ชูใจ ไปเสียฉิบ โชคยังดี หลายปีมานี่ เรามีโอกาสเห็นหนังสือเรียนที่น่าสนใจหลายเล่ม จากคนรุ่นใหม่ที่มีความตั้งใจเห็นความสำคัญของตำราเรียน มีฝีมือ และอุดมไปด้วยความคิดสร้างสรรค์ พยามสร้างแบบเรียนที่ส่าเรียนรู้ รูปประกอบสดใส มีเสน่ห์ ชวนให้เด็กๆอยากเรียนกันมากขึ้น อย่างคู่มือการเรียนรู้ สิ่งแวดล้อมของมูลนิธิโลกสีเขียว ชุดนักสืบสายน้ำ นักสืบชายหาด หรือ
ความพยายามจะผลิตหนังสือเรียนที่กระตุ้นพัฒนาการทางสมอง ( Brain base learning )ของสถาบันวิทยาการการเรียนรู้ แต่จะว่าไปถึงยังมีจำนวนน้อยนิดเมื่อเทียบกับเด็กไทยหลายล้าน ก็ยังดีกว่าไม่มีใครทำอะไรเลย
จนเมื่อเร็วๆนี้ ได้รับอีเมล์จากน้องเกื้อ ว่าขณะนี้งานที่เธอบ่มเพาะมาเป็นเวลากว่าสองปี ที่ทุ่มเทร่วมกับทีมผลิตตำราของโรงเรียนรุ่งอรุณ ก็ได้เสร็จสิ้นลงแล้ว แอ่น แอน แอ๊น.....
มีชื่ออย่างเป็นทางการว่า “หนังสือชุดคู่มือการสอนศิลปะ MORE THAN ART มากกว่าศิลปะ “
ทั้งหมดเป็นชุด 10 เล่ม ว่าด้วยกระบวนการศิลปะที่กระตุ้นการเรียนรู้เพื่อเข้าถึงคุณค่าของสิ่งรอบตัว ช่างน่าสนใจและมีชีวิตชีวาอย่างยิ่ง ครอบคลุมทั้งเด็กเล็กเด็กโต โดยจัดลำดับดังต่อไปนี้

กลุ่มที่ 1 ชั้นประถม1-2 ทำความคุ้นเคยกับธรรมชาติ ผู้ให้เครื่องมือและจินตนาการในการทำงานศิลปะ ซึ่งสอดคล้องและท้าทายสมองของเด็กวัยนี้
เล่มที่ 1 ลองเล่นกับธรรมชาติ
เล่มที่ 2 อุปกรณ์ศิลปะจากธรรมชาติ
เล่มที่ 3 ปั้นดิน ปั้นใจ
เล่มที่ 4 ถักร้อยเส้นด้ายเชื่อมใจ
กลุ่มที่ 2 ชั้นประถม 3-4 ฝึกทักษะการสร้างงานศิลปะที่หลากหลาย อันมีขั้นตอนแบบแผนที่ต่อเนื่อง ชัดเจน เพื่อก่อให้เกิดความเข้าใจและรับรู้ในเรื่องของเหตุปัจจัย อันเป็นธรรมชาติที่แท้จริง
เล่มที่ 5 ลอกลายงานไทย
เล่มที่ 6 หุ่นเงา
เล่มที่ 7 พิมพ์ภาพ ภาพพิมพ์
เล่มที่ 8 ศิลปะสาธารณะกุศล

กลุ่มที่ 3 ชั้นประถม 5-6 ใช้แรงบันดาลใจจากธรรมชาติ และทักษะที่สะสมมาประยุกต์ทำงานศิลปะที่ตนเองเป็นผู้กำหนดขั้นตอน
เล่มที่ 9 ตอกลาย
เล่มที่ 10 กิ่งไม้สร้างสรรค์


หนังสือชุดนี้ ฉันสั่งจองสองชุดรวด ด้วยว่ายังไม่เคยเห็นหนังสือ คู่มือการเรียนรู้โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เรื่องศิลปะ ฉบับภาษาไทยที่น่าสนใจเช่นนี้มาก่อน เป็นหนังสือคู่มือที่ดีมากๆสำหรับคุณครู นักกิจกรรมสำหรับเด็ก ที่จะเอามาปรับใช้เป็นแนวทางในการทำกิจกรรม เพราะรวบรวมจากประสบการณ์ที่สั่งสม ลองผิดลองถูกของครูรุ่งอรุณจนเกิดการเรียนรู้ร่วมกันทั้งครูและลูกศิษย์ ฉันจึงอ่านหนังสือชุดนี้ด้วยอาการ”อิน” เป็นอย่างยิ่ง กิจกรรมที่ถูกรวบรวมไว้ในหนังสือคู่มือก็ไม่ใช่กิจกรรมพิศดาร มหัศจรรย์พันลึก แต่เป็นกิจกรรมง่ายๆ เป็นอิสระ สนุกสนาน ที่สำคัญการเรียนรู้ศิลปะสำหรับเด็ก เป็นเรื่อง “ระหว่างทาง” เป็นปัจจุบันขณะของการลงมือทำ ไม่ใช่การหวังผลของผลงานปลายทาง เพราะการลงมือทำงานศิลปะคือเวลาแห่งการฝึกฝนตนเอง บ่มเพาะมล็ดพันธุ์แห่งจินตนาการลงในจิตใจเด็กๆอย่างถาวร ที่ต้องทำบ่อยๆ เป็นประจำ ไม่ใช่ สัปดาห์ละหนึ่งคาบเรียน เหมือนที่วิชาศิลปะถูกบรรจุไว้ในหลักสูตรการศึกษา ที่พิกลพิการอย่างในปัจจุบัน


ผู้สนใจสามารถสั่งซื้อได้เล่มละ 180 บาท (ทั้งชุด 10 เล่ม 1,700 บาท รวมกล่องสีสดใส สวยงาม)
สำนักพิมพ์สานอักษร โทร 02-8707512-3 ต่อ 163
อีเมล์ info@roomg-aroon.ac.th หรือ http://www.roong-aroon.ac.th/