วันพฤหัสบดีที่ 30 สิงหาคม พ.ศ. 2550








จำได้ว่าเมื่อปีที่แล้วตอนทำ อบรมวิทยากรโครงการวัยมันส์เท่าทันสื่อ ได้มีโอกาส เชิญกับน้องเกื้อ เกื้อกมล นิยม จากโรงเรียนรุ่งอรุณ มาเป็นวิทยากรรับเชิญ พูดคุยเรื่องการทำงานออกแบบหนังสือเรียน ในโครงการตำราของโรงเรียนรุ่งอรุณ จำได้ว่าเธอเอาวิชาออกแบบที่ร่ำเรียนมาจากอังกฤษ มาใช้ในงานออกแบบ ตัวหนังสือ สิ่งพิมพ์ได้อย่างน่าสนุกและ ฉงนฉงาย และทึ่ง ในวิธีคิด ของเธอและคณะครูของโรงเรียนรุ่งอรุณเป็นอย่างยิ่ง ว่างานออกแบบหนังสือเรียน หรือ ตำราดีๆสักเล่มสำหรับเด็กๆ เป็นเรื่องที่สลับซับซ้อน และ ท้าทายความคิดสร้างสรรค์เป็นอย่างมาก เพราะตำราดีสักเล่มอาจทำให้ เด็กๆค้นพบวิธีการเรียนรู้ที่น่าสนุก และอาจนำไปสู่การปลุกเร้าศักยภาพของตัวเองที่หลับไหลอยู่ให้ตื่นขึ้นอย่างที่เราๆก็อาจจะคิดไม่ถึง
มองกลับมาที่ประสบการณ์ส่วนตัวเรื่อง หนังสือเรียน ย้อนกลับไปหลายๆปีก็ยังนึกถึงตำราเล่มโต ตัวหนังสือเยอะๆ รูปประกอบเชยๆ ก็ไม่แปลกใจเลยว่าทำไม เด็กไทยถึงฉลาดเฉลียวกันถ้วนทั่ว เสียดายที่ตัวเองเรียนหลักสูตรเก่า เป็นรุ่นสดท้ายก่อนที่จะเปลี่ยนระบบ รุ่นนิทานร้อยบรรทัด เลยทำให้พลาดการเรียนตำราภาษาไทยสุดคลาสสิคอย่างปิติ มานี ชูใจ ไปเสียฉิบ โชคยังดี หลายปีมานี่ เรามีโอกาสเห็นหนังสือเรียนที่น่าสนใจหลายเล่ม จากคนรุ่นใหม่ที่มีความตั้งใจเห็นความสำคัญของตำราเรียน มีฝีมือ และอุดมไปด้วยความคิดสร้างสรรค์ พยามสร้างแบบเรียนที่ส่าเรียนรู้ รูปประกอบสดใส มีเสน่ห์ ชวนให้เด็กๆอยากเรียนกันมากขึ้น อย่างคู่มือการเรียนรู้ สิ่งแวดล้อมของมูลนิธิโลกสีเขียว ชุดนักสืบสายน้ำ นักสืบชายหาด หรือ
ความพยายามจะผลิตหนังสือเรียนที่กระตุ้นพัฒนาการทางสมอง ( Brain base learning )ของสถาบันวิทยาการการเรียนรู้ แต่จะว่าไปถึงยังมีจำนวนน้อยนิดเมื่อเทียบกับเด็กไทยหลายล้าน ก็ยังดีกว่าไม่มีใครทำอะไรเลย
จนเมื่อเร็วๆนี้ ได้รับอีเมล์จากน้องเกื้อ ว่าขณะนี้งานที่เธอบ่มเพาะมาเป็นเวลากว่าสองปี ที่ทุ่มเทร่วมกับทีมผลิตตำราของโรงเรียนรุ่งอรุณ ก็ได้เสร็จสิ้นลงแล้ว แอ่น แอน แอ๊น.....
มีชื่ออย่างเป็นทางการว่า “หนังสือชุดคู่มือการสอนศิลปะ MORE THAN ART มากกว่าศิลปะ “
ทั้งหมดเป็นชุด 10 เล่ม ว่าด้วยกระบวนการศิลปะที่กระตุ้นการเรียนรู้เพื่อเข้าถึงคุณค่าของสิ่งรอบตัว ช่างน่าสนใจและมีชีวิตชีวาอย่างยิ่ง ครอบคลุมทั้งเด็กเล็กเด็กโต โดยจัดลำดับดังต่อไปนี้

กลุ่มที่ 1 ชั้นประถม1-2 ทำความคุ้นเคยกับธรรมชาติ ผู้ให้เครื่องมือและจินตนาการในการทำงานศิลปะ ซึ่งสอดคล้องและท้าทายสมองของเด็กวัยนี้
เล่มที่ 1 ลองเล่นกับธรรมชาติ
เล่มที่ 2 อุปกรณ์ศิลปะจากธรรมชาติ
เล่มที่ 3 ปั้นดิน ปั้นใจ
เล่มที่ 4 ถักร้อยเส้นด้ายเชื่อมใจ
กลุ่มที่ 2 ชั้นประถม 3-4 ฝึกทักษะการสร้างงานศิลปะที่หลากหลาย อันมีขั้นตอนแบบแผนที่ต่อเนื่อง ชัดเจน เพื่อก่อให้เกิดความเข้าใจและรับรู้ในเรื่องของเหตุปัจจัย อันเป็นธรรมชาติที่แท้จริง
เล่มที่ 5 ลอกลายงานไทย
เล่มที่ 6 หุ่นเงา
เล่มที่ 7 พิมพ์ภาพ ภาพพิมพ์
เล่มที่ 8 ศิลปะสาธารณะกุศล

กลุ่มที่ 3 ชั้นประถม 5-6 ใช้แรงบันดาลใจจากธรรมชาติ และทักษะที่สะสมมาประยุกต์ทำงานศิลปะที่ตนเองเป็นผู้กำหนดขั้นตอน
เล่มที่ 9 ตอกลาย
เล่มที่ 10 กิ่งไม้สร้างสรรค์


หนังสือชุดนี้ ฉันสั่งจองสองชุดรวด ด้วยว่ายังไม่เคยเห็นหนังสือ คู่มือการเรียนรู้โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เรื่องศิลปะ ฉบับภาษาไทยที่น่าสนใจเช่นนี้มาก่อน เป็นหนังสือคู่มือที่ดีมากๆสำหรับคุณครู นักกิจกรรมสำหรับเด็ก ที่จะเอามาปรับใช้เป็นแนวทางในการทำกิจกรรม เพราะรวบรวมจากประสบการณ์ที่สั่งสม ลองผิดลองถูกของครูรุ่งอรุณจนเกิดการเรียนรู้ร่วมกันทั้งครูและลูกศิษย์ ฉันจึงอ่านหนังสือชุดนี้ด้วยอาการ”อิน” เป็นอย่างยิ่ง กิจกรรมที่ถูกรวบรวมไว้ในหนังสือคู่มือก็ไม่ใช่กิจกรรมพิศดาร มหัศจรรย์พันลึก แต่เป็นกิจกรรมง่ายๆ เป็นอิสระ สนุกสนาน ที่สำคัญการเรียนรู้ศิลปะสำหรับเด็ก เป็นเรื่อง “ระหว่างทาง” เป็นปัจจุบันขณะของการลงมือทำ ไม่ใช่การหวังผลของผลงานปลายทาง เพราะการลงมือทำงานศิลปะคือเวลาแห่งการฝึกฝนตนเอง บ่มเพาะมล็ดพันธุ์แห่งจินตนาการลงในจิตใจเด็กๆอย่างถาวร ที่ต้องทำบ่อยๆ เป็นประจำ ไม่ใช่ สัปดาห์ละหนึ่งคาบเรียน เหมือนที่วิชาศิลปะถูกบรรจุไว้ในหลักสูตรการศึกษา ที่พิกลพิการอย่างในปัจจุบัน


ผู้สนใจสามารถสั่งซื้อได้เล่มละ 180 บาท (ทั้งชุด 10 เล่ม 1,700 บาท รวมกล่องสีสดใส สวยงาม)
สำนักพิมพ์สานอักษร โทร 02-8707512-3 ต่อ 163
อีเมล์ info@roomg-aroon.ac.th หรือ http://www.roong-aroon.ac.th/

วันพุธที่ 1 สิงหาคม พ.ศ. 2550

วันที่สองในฮ่องกง

17 ก.ค 2550
ตื่นแต่เช้ามากินอาหาร ที่ร้านอาหารหน้าหอพัก ด้วยความงุนงง เพราะยังเช้าอยู่ ในราคานักศึกษา ประมาณ 15 -20 เหรียญ ก็ตกประมาณ 60-100 บาทไทย เป็นอะไรที่เหมือนมาม่าต้มกินเองบ้านเรายังอร่อยกว่า ต่อจากนั้นมาช่วยริชาร์ดเตรียมโบรชัวร์ เพื่อการนำเสนอpaper เรื่อง study tour ของมะขามป้อม แล้วเดินทางไปงุนงงต่อที่ hongkong acadany of performace เป็นสถาบันการแสดงขนาดใหญ่ของที่นี่ ตึกข้างๆเป็น hongkong art museum เป็นตึกหลายชั้นที่บรรจุโรงละครขนาดเล็ก โรงคอนเสิร์ต แกลลอรี่ ต่างๆนานา ไว้ให้ประชาชนพัฒนารสนิยม แหมน่าอิจฉาจริงๆ
กลับมาที่ apa เป็นสถาบันการแสดงทุกชนิด ตั้งดนตรี หนัง ทีวี ดนตรี ละคร ไว้ให้เยาวชนตี๋หมวยได้เล่าเรียนเกี่ยวกับศิลปะการแสดง เห็นเด็กวัยรุ่นแบกอุปกรณ์ดนตรีเดินท่อมๆมาซ้อมดนตรี แล้วให้นึกถึงบรรยากาศที่วิทยาลัยดุริยางคศิลป์ ศาลายา
ต่อจากนั้นเป็นการนำเสนอ ผลงานที่น่าสนใจของนักละครจากทั่วโลก เป็นเหมือนห้อง Mini workshop จัดในช่วงเวลาทุกครึ่งชั่วโมงตั้งแต่ 3.45 - 5.45 น เป็นเวลาที่เรียกว่า academic สำหรับการนำเสนอเรื่องราวของคณะละคร ที่น่าสนใจรวมทั้งองค์กรศิลปะจากทั่วโลก ห้องที่ริชาร์ดนำเสนอ คือ STUDIO 6 เป็นห้องเรียนเล็กที่คนฟังเต็ม ประมาณ 20 คนเห็นจะได้ ได้ยินภายหลังว่าบางห้องมีคนฟังแค่คนเดียวก็มี เพราะคุณเธอเล่นเปิดห้องพร้อมกันประมาณ 20 ห้องเห็นจะได้ คนก็เลยงุนงงว่าจะไปเรียนที่ห้องไหนดี การนำเสนอก็สั้นมากแต่สามสิบนาที กำลังได้ที่ก็ต้องหมดเวลาให้กับ lecturer คนต่อไปเสียแล้ว
เสร็จจากนั้นก็แบกตูดมาที่โรงละคร CATTLE DEPOT เพื่อเล่นละครเป็นวันแรก มาถึงก็เกิดอาการเหนื่อยอ่อน เจอเพียว เอ๊ด และพี่ตั้วกำลังโซ้ยข้าวหน้าเป็ดอยู่ที่ร้านอาหารแถวนั้นพอดี พวกเราก็เลยเข้าไปเนียนด้วยคนละชาม อิ่มกันละสิ
เดินมาถึงโรงละครก็ค่ำแล้ว เตรียมตัวเล่นรอบแรก การแสดงเรื่องแรกชื่อ Story of Mona จากปากีสถาน เป็นการแสดงง่ายๆที่ดูเหมือนหนังอินเดีย ว่าด้วยเรื่องการกดขี่ทางเพศของสังคมพื้นบ้านปากีสถาน ที่บังคับลูกสาวให้แต่งงานตอนอายุ 14 ทั้งๆที่เธออยากไปเรียนร้องเพลงในเมือง จนเธอก็เกิดอาการพยศ ไม่ยอมรับการคลุมถุงชน จนปู่และพ่อของเธอ ตีเธอจนบาดเจ็บ แล้วบังคับให้เธอแต่งงาน เธอแผลงฤทธิ์ในวันแต่งงาน จนโดนตีจนตาย เรื่องนี้เกิดขึ้นจริงในสังคมปากีสถาน จบเรื่องผู้กำกับหญิงชาวอิสราเอล ออกมานำกระบวนการforum theatre จนจบรายการจึงเป็นรายการของเรา คนดูเต็มโรง วันนี้จังหวะยังไม่ค่อยดี เหมือนกับค่อนข้างตื่นเต้น กับการแสดงรอบแรก แต่ผู้ชมก็มาให้กำลังใจกันคับคั่ง เล่นไปจนสุดท้ายก็ประสบความสำเร็จพอสมควร เจอไอ้แมน เพื่อน bigwind สมัยนานมากแล้ว มันยังบ้าเหมือนเดิม เสร็จเก็บของก็เลยกลับบ้านด้วยความอ่อนเพลียอย่างแรง



Posted by Picasa