วันพฤหัสบดีที่ 21 สิงหาคม พ.ศ. 2551

แผลงฤทธิ์…กลุ่มสถาปนิกหนุ่มสาวที่มีกำลังมาแรงแห่งเมืองเชียงใหม่

แผลงฤทธิ์…กลุ่มสถาปนิกหนุ่มสาวที่มีกำลังมาแรงแห่งเมืองเชียงใหม่
June 18th, 2008



‘แผลงฤทธิ์’ ไม่ใช่ชื่อภาพยนตร์กำลังภายใน แต่เป็นกลุ่มสถาปนิกเลือดใหม่ที่มีชื่อติดหู
ซึ่งมีผลงานการออกแบบอาคารรูปลักษณ์ไม่เหมือนใคร ที่กระจายตัวอยู่ในเชียงใหม่ทุกวันนี้
ผลงานการออกแบบของคนหนุ่มสาวกลุ่มนี้กำลังมาแรงและมีบทบาทไม่น้อยในการตกแต่ง
โฉมหน้าส่วนหนึ่งของเมืองเชียงใหม่ให้ดูทันสมัย ด้วยแนวคิดและการออกแบบอาคารที่เป็นเอกลักษณ์




สำนักงานของแผลงฤทธิ์ถูกออกแบบให้มีความเรียบง่ายตรงไปตรงมาดูทันสมัย เปิดเผยให้เห็นพื้นผิวของ
วัสดุจริงประกอบกับบานกระจกทรงสูงโปร่งให้ความต่อเนื่องของพื้นที่ภายนอกและภายใน ซึ่งโดดเด่นจาก
อาคารและบ้านเรือนในละแวกใกล้เคียงคนอาจจะเรียกงานที่เราทำว่าเป็นแนวโมเดิร์น เพราะดูผิดหูผิดตา
ไปจากคนอื่น ผมเคยถามคนทั่วไปว่าตรงไหนที่คิดว่าเป็นเอกลักษณ์ของเรา เขาบอกว่าตรงที่เราใช้เหล็ก
และใช้ไม้แบบนี้แหละ เรามักใช้วัสดุที่หาได้ในท้องถิ่นไม่กี่ชนิดเช่น ปูน ไม้ และเหล็ก ที่สามารถสร้างขึ้น
ได้ง่ายและมีราคาไม่แพง ที่จริงแล้วผมว่าเป็นสไตล์ของเราเองมากกว่าซึ่งมักมาจากการแก้ปัญหาต่าง ๆ
และความต้องการในสร้างอาคารในฝันบนพื้นฐานการมีวัสดุและงบประมาณที่จำกัด” ขวัญชัย สุธรรมซาว
สถาปนิกและผู้บริหารหนุ่ม วัย 30 ปี แห่งแผลงฤทธิ์กล่าวเขาเสริมว่าพื้นฐานการออกแบบของแผลงฤทธิ์
นั้นมีองค์ประกอบสำคัญมาจากพัฒนาการของวัสดุพื้นฐานใน ปัจจุบันซึ่งเอื้ออำนวยให้แนวความคิดการ
ออกแบบนั้นมีขอบเขตที่กว้างขวางกว่าเดิม เช่นการมีแผ่นเหล็กหรือเมทัลชีทที่ช่วยให้สามารถออกแบบ
โครงสร้างหลังคาที่แตกต่างไป แทนการใช้คอนกรีตเทที่มีน้ำหนักมาก หรือกระจกบานสูงที่ช่วยให้ผู้ออก-
แบบสร้างงานตอบสนองความต้องการของลูกค้าได้หลากหลายมากขึ้น



ขวัญชัยเป็นชาวเชียงใหม่โดยกำเนิด จบการศึกษาระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพจากสถาบันราชมงคลล้านนา
และสำเร็จระดับอุดมศึกษาจากคณะคุรุศาสตร์สถาปัตยกรรม สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าลาดกระบัง
กรุงเทพ ในช่วงดังกล่าวนั้นเขามีผลงานการออกแบบที่ได้รับรางวัลเชิงความคิดสร้างสรรค์จากงานประกวด
แบบทางสถาปัตยกรรมหลากหลายเช่น รางวัลรองชนะเลิศ โครงการสาทร 2000 ของสถานทูตฝรั่งเศสในปี
2542 รางวัลรองชนะเลิศผลิตภัณฑ์ยิมซั่มไทย ปี 2543 รวมทั้งรางวัลรองชนะเลิศอันดับสามศูนย์ออกแบบ
สีนิปปอนใน ปี 2546

“พอเรียนจบมาก็ทำงานกราฟิกดีไซน์ เพราะตอนนั้นบรรยากาศของวงการสถาปนิกที่เรารับรู้มามันไม่ค่อยดี
ทำให้ไม่อยากเป็นสถาปนิกไปพักใหญ่ อยู่มาวันหนึ่งได้อ่านหนังสือ ‘Rich dad, Poor dad’ เข้าทำให้เกิด
จุดเปลี่ยนทางความคิดว่าเราน่าจะเลือกทางเดินที่คนอื่นไม่ค่อยเลือกคือการทำธุรกิจของตัวเอง ถึงแม้มี
ความเสี่ยงแต่ถ้าไม่สำเร็จก็คิดว่ายังกลับมาสมัครงานบริษัทต่างๆ อีกได้ ในเมื่อเรามีความรู้ความสามารถ”

ขวัญชัยทบทวนความหลังถึงจุดเปลี่ยนในวันที่เขาตัดสินใจขายรถ และลาออกจากงานที่กรุงเทพเพื่อกลับ
มาทำธุรกิจที่บ้านเกิด โดยตัดสินใจเปิดร้านกาแฟที่เชียงใหม่ โดยใช้ความรู้ทางสถาปนิกออกแบบร้านใช้
ชื่อว่า Café Mong Pearl ซึ่งต่อมาได้ขายต่อกิจการไป เมื่อหันมาทำบริษัทสถาปนิกอย่างจริงจัง

“ห้าปีก่อนนั้นร้านกาแฟกำลังบูม คิดว่าทำไมสตาร์บัคยังทำได้ เห็นว่ากาแฟมีต้นทุนไม่แพง แต่เมื่อทำเข้า
จริงนั้นไม่เป็นไปอย่างที่คิด เพราะมีอะไรอย่างอื่นอีกมาก ปรากฎว่าทำไปใช้หนี้ค่าตกแต่งร้านไป ไม่เหลือ
กำไรเท่าไร จังหวะนั้นมีเพื่อนที่เรียนสถาปัตยกรรมมาด้วยกันชวนให้ทำงานออกแบบด้วย ก็เลยทำทั้งร้าน
กาแฟและงานออกแบบวุ่นวายไปหมดบริหารจัดการไม่เป็น บังเอิญมีคนสนใจขอซื้อกิจการร้านกาแฟจึงขาย
ไปและตั้งใจกลับไปหางานใหม่ แต่เพื่อนก็ชวนให้มาลุยเปิดบริษัทกันเอง อันเป็นที่มาของแผลงฤทธิ์ในวันนี้”

ขวัญชัยท้าวความถึงจุดเริ่มต้นทางธุรกิจในปี 2548 โดยกล่าวว่าวิธีการแก้ไขปัญหาที่ดีที่สุดคือความชัดเจน
และเอาบทเรียนต่าง ๆ ที่เคยล้มเหลวทางธุรกิจมาใช้ในการบริหารจัดการบริษัทแผลงฤทธิ์จนสามารถยืนหยัด
อยู่ได้จนมีทีมงานซึ่งเป็นคนรุ่นใหม่กว่าสิบห้าคนในวันนี้

“ชื่อแผลงฤทธิ์นั้น มันคือกิริยาของคนที่อึดอัดแล้วต้องแสดงออก แต่ไม่ใช่ในรูปแบบของความก้าวร้าว
แต่เป็นการแก้ปัญหาและเปลี่ยนแปลงวิกฤติให้เป็นโอกาส เกิดเป็นผลงานที่มีผลกระทบมาก”



ผลงานการออกแบบอาคารของแผลงฤทธิ์ก็เริ่มเป็นที่รู้จักและแนะนำกันไปปากต่อปาก นับตั้งแต่การออกแบบ
บ้าน โครงการบ้านพักอาศัย อาคารพานิชย์ ร้านอาหาร เช่น Maze Cafe’ หรือว่า Mo Hotel โรงแรมรูปทรง
หลุดโลกที่ได้ทำงานออกแบบร่วมกับศิลปินชื่อไทวิจิตร พึ่งสมบูรณ์ ซึ่งกำลังก่อสร้างย่านถนนท่าแพ เมือง
เชียงใหม่ที่พร้อมจะเปิดตัวในเร็ววันนี้หัวเรือใหญ่แห่งแผลงฤทธิ์กล่าวว่าบริษัทฯนั้นมีงานยาวไปจนถึงสิ้นปีหน้า
โดยได้ขยายพื้นที่การออกแบบไปสู่พื้นที่อื่น ๆ แล้วอย่างจังหวัดภูเก็ตและเกาะสมุย นอกจากนี้เขายังได้เปิด
บริษัทรับเหมาก่อสร้างที่ชื่อว่า ‘บริษัทไร้เทียมทาน’ เพื่อรองรับงานก่อสร้างไปในเวลาเดียวกัน ”ที่ผ่านมาผม
ทำงานไปนับสิบโครงการในปี ๆ หนึ่ง ในอนาคตอยากจะจำกัดงานของเราให้เหลือปีละแค่ห้าโปรเจคเท่านั้น
ก็พอเพื่อให้ได้คุณภาพดี” ในการทำงานออกแบบแต่ละโครงการนั้น ขวัญชัย เน้นว่าต้องคำนึงถึงภาพรวมและ
ผลกระทบต่อเมืองด้วย ”ผมยึดความเหมาะสมก่อน ถ้าผมรับได้ลูกค้ารับได้ก็ win-win ทั้งคู่ ถ้าลูกค้าต้องการ
ตามใจฉันหมดโดยไม่มีเหตุผล ผมจะไม่ทำ ยิ่งให้สร้างคร่อมคลอง พาดลำเหมืองผมไม่เอา”



“ที่ผ่านมาผมทำงานออกแบบมาทุกรูปแบบไม่ว่าแนวล้านนาหรือแนวทรอปิคอล แต่คิดว่าเราต้องมีความ
ชัดเจนสักอย่าง ซึ่งเราเลือกที่จะทำงานในแนวนี้ที่เราชอบมากที่สุด การที่ทำอะไรแตกต่างย่อมถูกจับตา
มองเป็นธรรมดา คนอาจมองว่าเราจุดกระแสงานออกแบบแนวโมเดิร์นขึ้นที่นี่ แต่ผมไม่คิดอย่างนั้น ความจริง
งานแนวนี้มีมานานแล้ว เช่นปั้มน้ำมันหรือธนาคารก็เป็นงานออกแบบที่โมเดิร์นแต่เราเคยชินกับมันมาแต่ไหน
แต่ไร ที่จริงผมทำงานออกแบบแนวนี้มานานแต่เป็นบ้านตามซอกซอย พอช่วงหลังมีโอกาสออกแบบอาคาร
สาธารณะอย่างร้านอาหาร หรือสำนักงานที่คนพบเห็นมากทำให้รู้จักเรามากขึ้น”

ตามทัศนะของขวัญชัย งานสถาปัตยกรรมประกอบขึ้นจากองค์ประกอบเล็ก ๆ หลายส่วนและรวมกันเป็นส่วน
ประกอบของเมืองอีกที ซึ่งเมื่อวิถีชีวิตของคนเปลี่ยนไปสถาปัตยกรรมก็ย่อมเปลี่ยนไปด้วยอย่างเลี่ยงไม่ได้
“ลูกค้าบางคนบอกว่าต้องการอยู่บ้านแบบล้านนาดั้งเดิม อยากมุงกระเบื้องดินขอ แต่ก็ต้องการเครื่องปรับ
อากาศและสิ่งอำนวยความสะดวกทั้งหลายแบบสมัยใหม่ ซึ่งคามคิดของผมเห็นว่าเป็นเรื่องที่ไม่เข้ากันเลย
กับวิถีชีวิตของเขาที่แตกต่างจากคนสมัยก่อนอย่างสิ้นเชิง การออกแบบทุกอย่างมันต้องมีที่มาที่ไปของมัน
เช่นการที่คนสมัยก่อนทำฝาไหลอยู่ข้างล่าง เพราะเขานอนบนพื้น ไม่ได้นอนเตียงเหมือนทุกวันนี้ ซึ่งเป็นเรื่อง
ที่ต้องมีความเข้าใจ ไม่ใช่เอามาใช้ผิดที่ผิดทาง” ในสายวิชาชีพขวัญชัยมีสถาปนิกที่เขาชื่นชอบในดวงใจ
หลายคน โดยเฉพาะสถาปนิกที่โด่งดังในระดับสากลอย่าง Rem Koolhass แห่งสำนัก OMA (The Office
for Metropolitan Architecture) แห่งเนเธอร์แลนด์ ที่เชี่ยวชาญด้านสถาปัตยกรรมและการออกแบบชุมชน
เมือง ซึ่งมีผลงานการออกแบบอาคารสำคัญ ๆ ทั่วโลก ขวัญชัยมองแนวโน้มทางการออกแบบสถาปัตยกรรม
ในอนาคตว่า “เทรนด์ของการออกแบบจะมุ่งไปในประเด็นที่เกี่ยวกับโลกร้อนมากขึ้น รวมทั้งเรื่องการพัฒนา
วัสดุก่อสร้างในเชิงชีวภาพ เช่นต่อไปที่อาจมีน้ำยาเคมีที่เชือมไม้หรือเหล็กให้เป็นเนื้อเดียวกันได้ อะไรทำนอง
นั้น” “ผมว่าต่อไปนั้นเทคโนโลยีและวัสดุจะเป็นตัวกำหนดเทรนนั้นออกมาเอง” หัวหน้ากลุ่มสถาปนิกรุ่นใหม่
ที่กำลังประสบความสำเร็จในเชียงใหม่ในวันนี้ กล่าวส่งท้าย

ทุกวันนี้ใครที่ได้มาเยือนเชียงใหม่ต่างกล่าวว่าโฉมหน้าของเชียงใหม่ในวันนี้เปลี่ยนไปอย่างมากท่ามกลาง
สภาพของเมืองที่เติบโตขึ้นอย่างรวดเร็ว การก่อสร้างโครงการอสังหาริมทรัพย์ และอาคารพานิชย์ต่าง ๆได้
ผุดขึ้นให้เห็นกระจายอยู่ทั่วทั้งเมือง ถนนนิมมานเหมินท์หรือพื้นที่อยู่อาศัยต่าง ๆ กำลังแปรเปลี่ยนเป็นย่าน
ธุรกิจการค้าตามซอกมุมต่างๆ นั้นมีอาคารที่มีรูปลักษณ์ต่าง ๆ ที่ปนเปกันไปอย่างมีสีสัน ทั้งอาคารรูปทรง
อนุรักษ์อย่างล้านนา ที่ตั้งอยู่ไม่ไกลจากอาคารแบบมินิมัลลิสต์ที่กำลังมาแรงในขณะนี้ อันแสดงถึงอัตลักษณ์
และทิศทางการเติบโตของเมืองเชียงใหม่ในปัจจุบันที่ยังยืนอยู่รากเหง้าวัฒนธรรมแบบเดิมเป็นสำคัญ แต่ก็
กำลังจะก้าวไปสู่ความเป็นเมืองสมัยใหม่อย่างเต็มตัวทั้งนี้บรรดานักออกแบบรุ่นหนุ่มสาวแห่งเชียงใหม่ต่าง ๆ
เหล่านี้ กำลังเป็น เรี่ยวแรงที่มีบทบาทอย่างสำคัญในกำหนดทิศทางการเปลี่ยนแปลงของเมือง ซึ่งโฉมหน้า
เชียงใหม่ในอนาคตนั้นย่อมขึ้นอยู่ภายใต้แนวคิดและมันสมองการออกแบบของคนรุ่นใหม่ที่แสดงออกบน
พิมพ์เขียวแต่ละแผ่นด้วยนั่นเอง

3 ความคิดเห็น:

nnn31134 กล่าวว่า...

rewtfret

nnn31134 กล่าวว่า...

...สวัสดีครับพี่ๆ พอดีผมอ่านหนังสือ บ้านและสวนก็เลยเจอคอล์ลัมที่มีพวกพี่ๆคับ ก็เลยลองหาใน google ดูก็เลยได้เขียนมานี่แหละคับ ตอนนี้ผมอยู่ ม.5แล้วครับอยากเรียนสถาปัตยกรรมมากๆๆ ตอนน้ก็กำลังมองหาที่เรียนอยู่คับ ยังไงถ้าพวกพี่ๆๆมีผลงานอะไรที่แปลกใหม่ ก็ส่งข่าวบ้างนะคับ.....
.....จะติดตามผลงานเสมอ (สำนักงานพวกพี่ มีที่เชียงใหม่แห่งเดียวหรือคับ)....

Unknown กล่าวว่า...

พบเจอบทความที่นักเขียนของ TCDCCONNECT เป็นผู้เรียบเรียงขึ้น แต่ในบทความตอนท้ายเห็นว่าเขียนโดย GUAY เลยไม่แน่ใจว่านักเขียนของเราเปิด Blog ในนี้ด้วยรึปล่าว แจ้งมาด้วยจ้า

หากคุณไม่ใช่ โปรดอ่านข้อความด้านล่างค่ะ
********************************
ตามที่ได้พบบทความเรื่อง "แผลงฤทธิ์…กลุ่มสถาปนิกหนุ่มสาวที่มีกำลังมาแรงแห่งเมืองเชียงใหม่" (ตามลิงค์ http://makhamguay.blogspot.com/2008/08/june-18th-2008-30-2000-2542-2543-2546.html) ในเว็บไซต์ของท่าน

รบกวนแก้ไขเพิ่ม credit แก่บทความที่ท่านได้นำเผยแพร่ลงในเว็บไซต์ด้วยค่ะ ว่านำมาจาก TDCCONNECT.COM ค่ะ

ทางเรายินดีที่จะให้ท่านนำบทความเผยแพร่ต่อ เพื่อประโยชน์แก่ผู้อ่านท่านอื่น ตามเงื่อนไขคือ ต้องให้ เครดิตแก่เว็บไซต์ TCDCCONNECT.COM และ นักเขียน ค่ะ
ขอบคุณล่วงหน้า

อนันตา อินทรอักษร
บรรณาธิการฝ่ายบริหาร TCDCCONNECT.COM
ฝ่ายพัฒนาการออกแบบและธุรกิจสร้างสรรค์
ศูนย์สร้า้งสรรค์งานออกแบบ