วันพุธที่ 25 กรกฎาคม พ.ศ. 2550






วันแรกในฮ่องกง






16 ก.ค 2550

สวัสดี เช้าวันแรกที่ฮ่องกง ตื่นขึ้นมา งัวเงียนิดหน่อยเพราะเช้ากว่าบ้านเราหนึ่งชั่วโมง เดินสะเงาะสะแงะไปหาอะไรกินข้างล่าง ที่ร้านอาหารเดียวกับที่กินเมื่อคืนนี้ คิดว่าจะสั่งโจ้กกิน แต่กลายเป็นมาม่ากับไส้กรอกไปซะอย่างงั้น ก็ดีอร่อยดี ค่าใช้จ่ายที่นี่แพงกว่าบ้านเรานิดหน่อย อาหารเช้า 15 เหรียญ กับกาแฟเย็น 5 เหรียญ รวมแล้วร้อยนึงพอดีๆ เดินไปดูดบุหรี่ไม่ค่อยจะมี ออกจากมหาลัยมาหน่อย เจอสวนเล็กๆ ใต้ถนนที่ไขว้ข้ามกันไปมา ที่นี่เขาใช้พื้นที่ให้เป็นประโยชน์จริงๆ เล็กๆน้อยๆก็ไม่ได้ สร้างประโยชน์ให้สาธารณะจริงๆเลย เรานั่งรถเมล์ ไปเล่นๆเพราะยังมีเวลาเหลือ กะว่าจะนั่งชมเมืองสักเล็กน้อย มันพาเข้าเมืองพ้นตลาดที่เป็นเนินเขา แล้ววกขึ้น โทล์เวย์ยาวเบื้อย พาลงอุโมงค์มืดๆ ข้ามฝั่งไปเกาลูน อารมณ์เหมือนเยาวราช เรารอจนแน่ใจว่า รถเมล์สาย 907 จะกลับมาที่เดิมเพราะที่นี่บางทีรถเมล์ไม่วิ่งทับทางเดิมเพราะทางมันวนเวียนเหลือเกิน เราเดินลงย่านไชน่าทาว์น อันที่จริงมันก็ไชน่าทาว์นเหมือนกันหมดนั่นแหละ เหมือนเยาวราช แล้วนั่งรถกลับมาเจอกับริชาร์ดแล้ว ได้เวลาที่นัดกับน้องเจมี่พอดี มารับเราเดินทางไปที่ โรงละคร Cattle Depot Artist Village เป็นเหมือนโรงเตี๊ยมเก่า เข้าใจว่าต้องเป็นตึกที่สร้างตั้งแต่สมัยสร้างเมืองเป็นแน่แท้ เขาดัดแปลงโรงฆ่าสัตว์เก่าเป็น Art Space มีArt Museum และ โรงเก็บของเก่า เป็นอาคารติดๆกันสี่ห้าอาคารน่าสนใจมาก ในย่านที่เป็นที่อยู่อาศัยเก่าๆ โทรม อารมณ์เหมือนแฟลตดินแดงขนาดใหญ่ เดินอาหารกินเป็นโจ๊กฮ่องกงกับ ปาท่องโก๋อันเท่าควาย อิ่มไปสามวัน ขายโดยอาซิ่ม กะอาเฮียที่พูดอังกฤษไม่ได้ เลยต้องใช้นิ้วชี้ๆเอา มาที่นี่สั่งอะไรกินก็มักจะได้อีกอย่างเสมอ มันส์ดีแท้ แต่โจ๊กฮ่องกงรสชาติดีมากๆเลย เป็นโจ๊กปลากะพง รสชาติกลมกล่อมนุ่มลิ้นไม่คาว สมอยากกับที่อยากกินแต่สั่งพลาดไปเมื่อตอนเช้า เสร็จแล้วเดินกลับมาที่โรงละคร กลางแดดเปรี้ยง ที่ร้อนไม่แพ้กรุงเทพเลยสักนิด ที่เห็นในหนังฮ่องกงใส่สูทกันสุดริด กูว่ามันบ้าแท้ๆ ร้อนตับแตกดีแท้ กลับมาก็เจอเพียวกับเอ้ดดี้กำลังซ้อมเทคนิคกันอยู่ ส่วนพี่ตั้วกับริชาร์ดไปเตรียมตัวขึ้นเวที ในพิธีเปิด ก่อนหน้าแล้ว เราโฟกัสไฟเสร็จในเวลาอันรวดเร็ว แล้วรีบตามไปด้วยการนั่งรถเมล์สาย 5 ไปที่ท่าเรื่อสตาร์เฟอร์รี่ สุดสายรถเมล์ เป็นตึกขนาดใหญ่ของ Hongkong Cultural Center มีโรงคอนเสิรต์ และ ห้องจัดนิทรรศการใหญ่โตทีเดียว เข้าไปลงทะเบียน แล้วแทรกตัวไปเนียนกับแขกผู้มีเกียรติ ที่มาจากคณะละครสายการศึกษาจากทั่วโลก นั่งรอด้วยคอกเทลสักครู่ก็เลยเดินเข้าไปในฮอลล์ เป็นโรงคอนเสริต์ แล้วสักพักการแสดงเปิดก็เริ่มต้นขึ้น ด้วยนักดนตรีในภูมิภาค มาเล่นดนตรีแล้วมีนักเต้น มาเต้นบัลเล่ต์หยองแหยงไปมาสักพักมีพระเอกงิ้วออกมาวาดลีลา แล้วศิลปินนักเขียนอักษรจีนก็เขียนตัวอักษรใหญ่กลางเวที อารมณ์ยินดีต้อนรับ สักพักก็เชิญผู้ใหญ่มากล่าวเปิดคนละนานๆ รวมสามคน แล้วเชิญตัวศิลปินขึ้นเวที ทีละชาติ จนครบ แล้วทำพิธีปลูกต้นไม่ใหญ่ยักษ์ อุปมาว่าเป็นเมล็ดพันธุ์ศิลปะ ที่จะเติบใหญ่ไว้กู้โลก ปิดท้ายด้วยสิงโตปักกิ่ง ตุ้งแช่ตัวใหญ่และฝีมือการเชิดไม่เลว เรียกความคึกคักและเร้าใจฝรั่งต่างชาติเป็นอย่างยิ่ง
พวกเรากลับออกมาเมื่อเกือบ ห้าโมงครึ่ง พร้อมกับ Kokman Bernard และ Gwan จากมาเลเซีย มาแวะกินอาหารจีน เละๆไม่อร่อยที่สี่แยก แล้วกลับมาซ้อมต่อที่โรงละครหนึ่งเที่ยว การซ้อมดำเนินไปด้วยดี ไม่มีอุปสรรคอะไร โรงละครเล็กน่ารักขนาดกำลังดีกับคนดูที่ไม่มากเกินไป ด้วยความช่วยเหลือจากสามสาวเทคนิคเชี่ยนแห่งโรงละคร ONandON กลับมาหอพักด้วยการต่อรถเมล์อันยาวนาน จบวันแรกของการตะลุยเกาะฮ่องกงด้วยความหฤโหด เกินบรรยาย

มหาชนกตะลุยฮ่องกง






มหาชนก ตะลุยฮ่องกง
เดือนกรกฎาคมปีนี้ กลุ่มละครมะขามป้อมได้รับเชิญ ไปร่วมงานละครระดับโลก 2 งานติดกัน คือ งาน IDEA 2007 International Drama and Education Association ที่ฮ่องกงและและงาน Assiteg 2007 เกาหลี ฉันได้มีโอกาสติดตามชาวคณะในฐานะสมาชิกผู้เข้าร่วมงานและผู้ควบคุมเสียงในละครเรื่อง มหาชนก Never say die ที่นำไปร่วมในการประชุมคราวนี้ เลยบันทึกประสบการณ์สนุกๆมาเล่าสู่กันฟัง เชิญตอิดตามได้ณบัดนาว...........

15 ก.ค 50
ฉันนัดแนะกับริชาร์ด ไว้ตอน 11 โมง ที่สนามบินสุวรณภูมิ แบกสังขารมาเจอริชาร์ดในสภาพสะบักสะบอม เพราะเมิ่อคืนเพิ่งเสร็จงานปาร์ตี้ กับทีม Study Tour ของฝรั่งฝูงใหญ่ แล้วโซเซขึ้นเครื่องบินมาในสภาพครึ่งคนครึ่งอะไรไม่รู้ แล้วก็พาเราหนึ่งฝรั่ง หนึ่งจีน ข้ามน้ำข้ามทะเลมาที่เกาะฮ่องกง ด้วยสายการบิน อามิเรต์ เป็นครั้งแรกที่ได้นั่งเครื่องตะวันออกกลาง ด้วยอาการกลัวอาหารแขกขึ้นสมอง แต่ปรากฏว่าบริการและอาหารใช้ได้ทีเดียว ทำให้มายาคติเกี่ยวกับเรื่องอาหารแขกของฉัน วางลงไปได้มากทีเดียว สามชั่วโมงบนเครื่องบิน พาฉันมาร่อนลงที่สนามบินฮ่องกง เป็นรันเวย์บนเกาะเล็กๆ (อันนี้เห็นจาก กล้องเล็กที่ติดไว้แบบที่สายตานักบินจะเห็นแต่เขาถ่ายออกมาให้ผู้โดยสารดูด้วย) สนามบินใหญ่โต สวยงามแต่เล็กกว่าสุวรรณภูมิและไม่บ้าคลั่งขายของเท่าเรา ออกมาเจอ น้องหมวยเจมี่ มารับพวกเรา เธอเป็นอาสาสมัครที่รับหน้าที่ในการดูแลคณะละคร อารมณ์เหมือนนักศึกษา พาไปซื้อตั๋ว” Octopus Card “ ที่สามารถใช้เป็นบัตรเดินทางได้สำหรับการขนส่งทุกชนิดทั้ง รถใต้ดิน บนดิน รถเมล์ เรือเฟอร์รี่ หรือใช้ซื้อของตามร้านสะดวกซื้อ และเครื่องขายของอัตโนมัติได้ด้วย นัยว่าเป็นปลาหมึกยักษ์ หนวดยั้วเยี้ยเหมือนเครือข่ายการขนส่งที่นี่ ราคาสูงเหมือนกัน สามร้อยเหรียญ เท่ากับพันห้า แพงเหมือนกันวะ เรานั่งรถ Airport Express เป็นรถหัวจรวดทันสมัยเป๊ะ ราคาตั๋ว 100 เหรียญต่อเที่ยว ใช้เวลาแค่ 28 นาที บึ่งจากสนามบินอันไกลโพ้นเข้าไปที่สถานี Hongkong เป็นเหมือนชุมทางต่อรถทุกชนิดในฮ่องกง แล้วนั่งรถเมล์สองชั้น ตั้กๆ เบอร์ 94 มาที่ มหาวิทยาลัยฮ่องกง เป็นหอพัก ชื่อ star hall มีหอพักอีกแห่งอยู่ใกล้ๆกันชื่อ Madam Tung Ho อะไรสักอย่างอยู่ใกล้ๆ เราได้ห้องชั้นสิบสี่ ขึ้นมา เข้าทีแรกก็ตกกะใจเพราะห้องมันเล็ก มีสองเตียง มีชั้นวางหนังสือและเขียนหนังสือ และตู้เสื้อผ้า เล็กๆให้ทุกห้อง มีห้องน้ำรวมแยกออกไป และ มองออกไปเห็นไฟวิบวับ ของอ่าวฮ่องกงยามค่ำคืน ก็น่าสนใจดีสำหรับการมาฮ่องกงคืนแรกของฉัน

วันศุกร์ที่ 6 กรกฎาคม พ.ศ. 2550















กิจกรรมนิทานสัญจร
ผ่านไปแล้วกับกิจกรรมหลากหลายใน”โครงการนิทานสัญจร” ที่บ่มเพาะความคิดสร้างสรรค์ ปลูกเมล็ดพันธุ์ ความฝันและ จินตนาการลงในหัวใจเด็กๆ ตั้งแต่ต้นเดือนพฤษภาคม ที่เริ่มต้นด้วยการเล่านิทานแสนสนุก เรื่อง “พระจันทร์อยากมีเพื่อน” นำทีมโดยพี่จิ๋ว นักเล่านิทานแม่ลูกอ่อน ร่วมด้วยพี่บอย สามีสุดที่เลิฟเป็นผู้ประสานงาน กับ พี่ปุ้ย คอยทำหน้าที่พิธีกรและกองหลังสนับสนุนสุดตัว ทั้ง 3 สมาชิกแห่งกองกำลังบำรุงฝัน ชักชวนพี่เด็กๆ ชั้นป. 5-6 แห่งโรงเรียนบ้านทุ่งหลุก มาเป็นแนวร่วม ด้วยการฝึกฝนวิทยายุทธ์วิชาการเล่านิทาน เล่นละครกันอย่างสนุกสนาน จนในที่สุดก็ได้นิทานละครสุดหรรษาเรื่องลูกหมูสามตัว
( สงสัยว่าเอาเค้าโครงเรื่องและตัวละคร มาจากสมาชิกกองกำลังทั้ง 3 )ทั้งหมดจึงชักชวนกันตระเวนแสดงไปทุกศูนย์เด็กเล็กและโรงเรียนอนุบาลในตำบลเชียงดาว สร้างความหวาดผวา เอ้ยไม่ใช่ ความสนุกสนาน ทั้งเด็กๆและคุณครู จนป่านนี้เด็กๆก็ยังคงร้องเพลง จากนิทานกันลั่นโรงเรียน อีกไม่นานพี่จิ๋วก็คงกลายเป็นป้าจิ๋วนักเล่านิทานประจำตำบล ไม่เชื่อลองดูภาพประกอบ



ละครโรงเล็กเด็กเชียงดาว ครั้งที่ 3

27 พฤษภาคม ที่ผ่านมา สมาชิกละอ่อนหนอนน้อยเกือบสามร้อยชีวิต ยกทัพบุกยึดเนื้อที่เต็มโรงละครมะขามป้อม ด้วยความตื่นเต้นที่จะได้มาร่วมงาน “ ละครโรงเล็กเด็กเชียงดาว ” ที่จัดขึ้นทุกเดือนติดต่อกันเป็นครั้งที่ 3 แล้ว
เมื่อละอ่อนน้อยลงจากรถโรงเรียนได้ ก็วิ่งตื๋อเข้าแถวตรงมาที่โรงละคร เข้าซุ้มนิทานแสนสนุกที่รอต้อนรับโดย พี่เลี้ยงนักเล่านิทานจากกลุ่มละครเยาวชนข้าวนึ่ง จากโรงเรียนเชียงดาววิทยาคมเป็นการอุ่นเครื่อง เด็กๆทำหน้าเคลิบเคลิ้ม จินตนาการตามนิทานที่พี่ๆเล่ากันอย่างเพลิดเพลิน เมื่อได้เวลา สมาชิกจากโรงเรียนอนุบาลและประถมเกือบทั้งตำบลมากันครบครัน จึงถึงเวลาของละครนิทาน เรื่อง “ลูกหมูสามตัว” โดยพี่ๆ นักแสดงตัวน้อยจากโรงเรียนทุ่งหลุก(อินเตอร์แนชั่นแน่วววววววว) ละครเรียกเสียง เฮๆ ฮาๆ เป็นระยะ แต่ที่ตื่นเต้นกว่าคนดู ก็คือพี่ๆนักแสดงนั่นเอง และแล้วก็มาถึงช่วงที่ทุกคนรอคอย ละครเรื่อง พระจันทร์อยากมีเพื่อน โดยพี่จิ๋ว พร้อมด้วยทีมนักร้องนักดนตรีโดย น้องดาว ลุงริชาร์ด พี่บอย และทีมเชิดหุ่นโดย พี่จำปี พี่ปุ้ย พี่มายูมิ น้องกอล์ฟ และคณะ
หลังละครจบก็เป็นช่วง เด็กน้อยปฏิบัติการศิลปะ ในซุ้มต่างๆ ทั้ง ซุ้มทำหน้ากาก ซุ้มทำหุ่นไล่กา ซุ้มนิทาน ซุ้มวาดรูประบายสี ซุ้มหุ่นมือ อลหม่านกันทั้งเด็กทั้งครู จากนั้นจึงแยกย้ายกันกลับบ้าน ด้วยความสุขและรอยยิ้ม เต็มสองแก้มมมมมมมมมมมมมตุ่ย

ขอขอบคุณ คุณเพลงดาบแม่น้ำร้อยสาย ที่บริจาครายได้ส่วนหนึ่งจากการจำหน่ายโปสการ์ด เป็นค่าอุปกรณ์วาดรูปและหนังสือนิทานให้แก่เด็กๆ จ้า














โครงการพัฒนาหลักสูตรท้องถิ่น “เรียนรู้ชุมชนผ่านกิจกรรมละคร” เริ่มต้นแล้ว
เมื่อวันที่ 1 มิถุนายน ที่ผ่านมาสดๆร้อนๆ เหล่าสมาชิกมะขามป้อม เชียงดาว จัดประชุมชี้แจงเพื่อทำความเข้าใจ และหาความร่วมมือกับชุมชน ด้วยการประชุมผู้ปกครองนักเรียน คณะครู และ อบต.ที่โรงเรียนบ้านทุ่งหลุก ซึ่งตลอดปี 50 นี้ เรามีแผนการทำงานร่วมกับชุมชนโดยเฉพาะโรงเรียนรอบๆหมู่บ้าน จึงจัดทำโครงการพัฒนาหลักสูตรท้องถิ่น“เรียนรู้ชุมชนผ่านกิจกรรมละคร” ร่วมกับโรงเรียนในชุมชน โดยเริ่มต้นที่โรงเรียนบ้านทุ่งหลุกเป็นโรงเรียนแรก ในโครงการประกอบด้วยกิจกรรมสนุกๆ ตลอดทั้งปี เช่น การอบรมทักษะการแสดงละครเบื้องต้น อบรมการถ่ายภาพเรื่องของดีๆในหมู่บ้าน เรียนวาดภาพสีน้ำตามท้องทุ่ง ฝึกแต่งนิทานจากตำนานเรื่องเล่าในชุมชน ลองทำของเล่นพื้นบ้านกับพ่ออุ๊ยแม่อุ๊ย อบรมละครหุ่นสร้างสรรค์จากวัสดุธรรมชาติ ฝึกเป็นมัคคุเทศก์น้อยขี่จักรยานเที่ยวรอบหมู่บ้าน และ ปิดโครงการด้วยนิทรรศการแสดงผลงานเด็กๆช่วงปลายปี ในงาน “มหกรรมมหัศจรรย์วันหุ่นฟางข้าว”
โดยกิจกรรมทั้งหมดเราจะรวบรวม จัดทำเป็นกิจกรรมการเรียนรู้หลักสูตรท้องถิ่น “เชียงดาวบ้านเฮา” เพื่อให้เด็กๆ ได้เรียนรู้ภูมิปัญญาพื้นบ้านอย่างสร้างสรรค์ เชื่อมโยงกับวิถีชีวิตที่ดีงามของชุมชน จนเกิดความภาคภูมิใจในถิ่นฐานบ้านเกิดต่อไป

ข่าวดี ! โครงการนี้รับอาสาสมัครผู้สนใจไปช่วยงานเป็นครูอาสาใครคิดว่ามี หัวใจอาสา อยากใช้เวลาว่างให้เป็นประโยชน์ ก็เตรียมตัวไว้แต่เนิ่นๆ อีกไม่นาน เราจะประกาศข่าวให้ทราบทางเวบไซต์ต่อไปจ๊ะ



Posted by Picasa

วันอังคารที่ 3 กรกฎาคม พ.ศ. 2550

วันจันทร์ที่ 2 กรกฎาคม พ.ศ. 2550

วันอาทิตย์ที่ 1 กรกฎาคม พ.ศ. 2550

ประชุม ชีวิต slow down





ปลายเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา ที่มะขามป้อมสตูดิโอ สะพานควาย เหล่าองค์กรพันธมิตรนอกคอก(ฮา) นำโดยแกนนำอย่างสถาบันต้นกล้า อาศรมวงศ์สนิท มูลนิธิคุ้มครองผู้บริโภค กลุ่มละครมะขามป้อม กรีนพีซ ร่วมพูดคุยกันเพื่อค้นหาความสนใจในการรณรงค์เรื่องที่น่าสนใจต่อสังคม ต่อเนื่องจากโครงการสัปดาห์ปิดทีวี ที่เครือข่ายร่วมกันรณรงค์ไปเมื่อต้นปี ที่ผ่านมา พวกเราพุ่งเป้าความสนใจไปที่ เรื่อง”ชีวิตที่ไม่เร่งรีบ slow down ประเด็นในการรณรงค์ให้ใช้ชีวิตช้าลง เพื่อละเลียดกับความสุขระหว่างทาง มากกว่าจะพุ่งเป้าไปอิ่มเอมกับความสำเร็จของผลลัพท์
จากแนวคิดหนังสือ ขายดีชื่อ ที่จัดพิมพ์โดยมูลนิธิคุ้มครองผู้บริโภค และติดอับดับหนังสือขายดี ในงานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติที่ผ่านมา แสดงว่าแนวคิดเรื่องนี้ ได้รับความสนใจจากมหาชนชาวสยามอยู่พอสมควร
เรามีข้อสรุปจากการพูดคุยกันว่าน่าจะจัดพูดคุยเพื่อหาข้อมูลเพิ่มเติมเรื่องประเด็นการใช้ชีวิตช้า นี้ส่งผลกระทบด้านบวกและลบอย่างไร ในด้านที่องค์กรตัวเองรับผิดชอบอยู่เช่น มะขามป้อมก็ดูเรื่องผลที่มีต่องานศิลปวัฒนธรรม ต้นกล้าก็มุ่งไปที่งานเยาวชน มูลนิธิคุ้มครองผู้บริโภคหาข้อมูลด้านสิทธิผู้บริโภค อาศรมวงศ์สนิทดูเรื่องวิถีชีวิตทางเลือก กรีนพีซรับผิดชอบด้านสิ่งแวดล้อม เพื่อที่จะหาข้อมูลการทำงานที่รอบด้านมากที่สุด ในระหว่างนั้นอาจมีการจัดกิจกรรม workshop หมุนเวียนกันไปตามองค์กรต่างๆ แล้วค่อยมากำหนดกิจกรรมรณรงค์สร้างกระแสสังคม เช่นการจัดเสวนาเปิดตัวหนังสือเพื่อเป็นการให้ข้อมูลต่อสังคม ไปพร้อมๆกับการทำกิจกรรมรณรงค์ขององค์กรพันธมิตรไปพร้อมๆกัน แหล่งที่เราเล็งว่าจะจัดกิจกรรมก็น่าจะเป็นตามร้านหนังสือในห้างสรรพสินค้า มหาวิทยาลัย ตอนนี้ยังเปิดรับองค์กรที่สนใจในประเด็นนี้เข้าร่วมเป็นพันธมิตร เพื่อช่วยกันจัดกิจกรรมสนุกๆที่จะตามมาอีกเพียบ เร็วๆ นี้ เอ้ย ไม่นานเกินไปนี้
พวกเราหลายคนสะท้อนว่า โดยธรรมชาติที่ผ่านมาพวกเราก็เป็นพวกช้า.......ซะจนบางทีก็ไม่ค่อยจะทันกับความเปลี่ยนแปลงที่รวดเร็วของโลกใบนี้อยู่แล้ว คราวนี้ก็จะได้มาช้ากันยิ่งขึ้นไปอีก แล้วจะได้งานได้การกันไหมละเนี่ย....ความคืบหน้าจากการประชุมครั้งต่อไปเป็นอย่างไรจะรายงานให้ทราบกันอีกทีอย่างช้า.......ๆๆๆ ต่อปายยยยย สวาสสสสสสสสสดี

นาฏวิทยา คลินิก





โครงการเกื้อกูลวิทยาการนาฏกรรมแก่คณะละครรุ่นใหม่ในประเทศไทย ของสถาบันศิลปวัฒนธรรมเพื่อการพัฒนา (มายา)

วันเสาร์ที่ผ่านมา ที่มายาลัย มะขามก๋วยร่วมเสวนากับเพื่อนๆกลุ่มละครหลายกลุ่มทั้งพระจันทร์เสี้ยว รองเท้าแก้ว บางเพลย์ และ น้องๆกลุ่มละครรุ่นใหม่อีกหลายกลุ่ม โดยมีพี่เจี๊ยบ สันติ จิตระจินดา ผู้อำนวยการทางศิลปะ จากมายาเป็นวิทยากรบรรยายถึง วิธีการทำงาน ทิศทาง และ ยุทธศาสตร์การดำเนินงานละครในประเทศไทย แบ่งปันประสบการณ์ระหว่างคณะละคร งานนี้ได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกัน และ เห็นแนวทางกันทำงานที่ชัดเจนมากยิ่งขึ้น
เห็นทีน่าจะจัดอีกบ่อยๆด้วยการจัดหมุนเวียนกันไปเป็นเจ้าภาพตามคณะละครต่างๆ สักเดือนละครั้ง เน้นไปที่วิธีการดำเนินงานของแต่ละกลุ่มที่แตกต่างกัน เป็นการจัดการองค์ความรู้เรื่องการบริหารการดำเนินงานของคณะละครในประเทศไทย แลกเปลี่ยนองค์ความรู้ในฐานะกัลยาณมิตร ก็จะเป็นคุณูปการต่อวงการละครทางเลือกของบ้านเรามากทีเดียว

มหาชนก never say die รีเทิร์น









27 มิถุนายน ที่ผ่านมา ทีมละครเรื่อง”มหาชนก never say die” ได้รับเชิญจากมหาวิทยาลัย abac แสดงให้กับนักศึกษาปริญญาโทหลักสูตรนานาชาติ สาขา ปรัชญา ก่อนที่กลางเดือนหน้าจะได้รับเชิญให้ไปร่วมแสดงในงานประชุมนักการละครเพื่อการพัฒนาจากทั่วโลก 2 รายการคือ งาน IDEA 2007 ที่ฮ่องกง และ Assitej ที่กรุงโซล ประเทศเกาหลีใต้
การแสดง เริ่มต้นอย่างเรียบง่ายด้วยการเล่าเรื่อง ของริชาร์ดที่รับหน้าที่เป็นผู้เล่าเรื่องกล่าวถึงที่มาของ เรื่องมหาชนก และ เข้าสู่การแนะนำตัวละคร ด้วยการแสดงเดี่ยวของ พี่ตั้ว ที่ค่อยๆเล่าเรื่องผ่านการแสดงเดี่ยวอันเข้มข้น ทรงพลัง พลิกบทบาทไปมา ทั้งพระมหาชนก นางมณีเมขลา ชายชาวประมง หญิงบริการ แรงงานชนกลุ่มน้อยพลัดถิ่น ทหารในสามจังหวัดชายแดน เรื่องราวและเหตุการณ์ต่างๆมากมาย ถูกร้อยเรียงออกมาเป็นเรื่องราวที่น่าสนใจผ่านการแสดงที่สะกดสายตาผู้ชมต่างชาติในห้องประชุมให้ติดตามเรื่องราวตั้งแต่ต้นจนจบด้วยความประทับใจ
เมื่อจบการแสดงจึงเป็นการพูดคุย ระหว่างผู้ชมกับนักแสดง และ ผู้กำกับ มีการถามถึงแนวคิดในการนำเสนอเรื่องราวที่เป็นปัญหาของประเทศไทย วิธีการสร้างเรื่องราวจากละคร การทำงานของมะขามป้อม และอีกหลากหลายคำถาม
สุดท้ายเป็นการทำ Mini Workshop แนะนำวิธีการทำงานของมะขามป้อมผ่านเครื่องมือทางศิลปะ คุณริชาร์ด วิทยากรหน้าฝรั่งของเรา ให้ทำแผนที่แนะนำประเทศของตัวเอง ผ่านการทำศิลปะแบบจัดวาง ( Installation Art ) แล้วจึงเป็นการแลกเปลี่ยนแนะนำเครื่องมือการทำงานว่าการทำแผนที่เป็นกิจกรรมที่มะขามป้อมนิยมใช้เพื่อเป็นการเปิดโอกาสให้ผู้เข้าร่วมกิจกรรมได้ทบทวนตัวเอง เพื่อเล่าเรื่องราวแลกเปลี่ยนกับเพื่อน เป็นการแบ่งปันประสบการณ์ในชีวิต ผ่านการทำงานศิลปะ จะทำให้ง่ายต่อการสร้างบรรยากาศความไว้วางใจ รู้พื้นฐานที่มาของกันละกัน เป็นกิจกรรมที่สนุก อาศัยความคิดสร้างสรรค์ และการมีส่วนร่วมสูงมาก พร้อมทั้งมีการฉายวิดีโอการทำงาน ด้วยเครื่องมือแผนที่นี้ จากการทำงานในค่ายผู้อพยพ หรือ ผู้ประสบภัยในพื้นที่สึนามิ ด้วย